จริยธรรมนักกีฬาต่อองค์กร เก่งแล้วทำอะไรก็ได้?
ในตอนนี้กระแสของวงการอีสปอร์ตไม่ว่าจะในประเทศ หรือต่างประเทศเราจะเห็นได้ว่าอยู่ในจุดที่กำลังพุ่งขึ้น มีองค์กรหรือระบบมาควบคุมให้อยู่ในลู่ในทาง มีการเซ็นสัญญากันเฉกเช่นนักกีฬาทั่วไป แต่คำถามคือหากคุณเก่งจนเกินขนาดทีมในปัจจุบันแล้ว นักกีฬาคนนั้นสามารถทำอะไรก็ได้ในทีม มีอิทธิพลสูงโดยไม่ต้องสนใจคนในทีม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นปัญหาหลักของวงการในปัจจุบันเลยทีเดียว
ก่อนอื่นขอกล่าวไว้ในต้นบทความนี้เลยว่า จะไม่ได้มีการพูดถึงสิ่งที่สังกัดกระทำต่อตัวนักกีฬาในสังกัดตามดราม่า หรือข่าวในช่วงก่อนหน้านี้ แต่จะเน้นไปในตัวของนักกีฬาเองมากกว่า โดยเทียบกับนักกีฬามืออาชีพในกีฬาอื่นเป็นหลัก
ความซื่อสัตย์ต่อองค์กรและทีม
ทีมในกีฬาอีสปอร์ตก็ไม่ต่างกับบริษัทขนาดเล็ก มักจะมีคนชอบพูดเหมือนไลฟ์โค้ชว่า อย่ารักบริษัทให้มาก คุณหายไปเขาก็เอาคนอื่นมาแทน คำนี้จะพูดในเชิงทีมอีสปอร์ตหรือนักกีฬาก็ไม่ถูกนัก เพราะถ้าผลงานคุณแสดงผลออกมาชัด ทุกคนก็รับรู้ได้ ไม่ใช่ทำงานงกๆ แล้วหัวหน้าคาบเอาความดีความชอบไปอยู่คนเดียว
เมื่อรวมแล้วความซื่อสัตย์ต่อองค์กรของนักกีฬาจึงสูงกว่าอย่างชัดเจน และเป็นพฤติกรรมและจริยธรรมพึงมีเบื้องต้นของนักกีฬาอยู่พอตัว ถ้าเทียบกับนักกีฬาแล้วให้ยกตัวอย่างคงเป็น สตีเว่น เจอร์ราด เดิร์ก โนวิซกี้ โคบี้ ไบรอัน ซึ่งอยู่กับทีมใดทีมหนึ่งอย่างยาวนาน จบด้วยการเป็นตำนานของทีมนั้น หรือถ้าใกล้ตัวในวงการอีสปอร์ต เทพเจ้า Faker แห่ง SKT หรือ Dendi มาสคอตประจำ Na’vi ก็เป็นตัวอย่างที่ดี และเรามักจะเห็นแต่ด้านดีของพวกเขาอยู่เสมอจนเป็นที่รักของเหล่าแฟนคลับทีมอยู่ตลอด
กลับกันหากมีคนทรยศทีม ย้ายไปทีมฝั่งตรงข้าม ทำตัวงอแง ทีมกีฬาก็จะมีความเดือดดาลมากกว่าบริษัททั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ถึงกับมีการสาปส่ง และโห่อยู่ตลอดเวลาในการแข่งขัน ถึงจะไม่เห็นชัดเจนนักในวงการอีสปอร์ตก็ตาม
ตัวอย่างของการย้ายทีมที่ทำเอาเพื่อนสาปส่งคงไม่พ้นกรณีล่าสุดในทีม Na’vi เมื่อ Zayac Support ของทีมย้ายไปเข้าทีมขาใหญ่อีกทีมใน CIS อย่าง Virtus.Pro แบบจบไม่สวย เพราะเจ้าตัวก่อนย้ายทีม ตั้งแง่ ไม่ยอมซ้อม ไม่คุย และใช้ช่องว่างกฎหมายเพื่อย้ายทีม จนทำเอาคอมมิวนิตี้ Dota2 ต่างเกลียดทีม Virtus.Pro ไปตามๆกัน (สามารถอ่านรายละเอียดได้ในนี้ https://kingofgamersclub.com/news/esports/520 )
แต่เรื่องของ Virtus.Pro ยังไม่จบในเมื่อคนเกลียดแล้วก็ใส่ให้สุด เมื่อ gpk ดาวรุ่งพุ่งแรงของ Gambit ทีมในโซนเดียวกันเกิดงอแง ไม่ร่วมซ้อมขึ้นมา โดยมีแหล่งข่าวของทางรัสเซียระบุว่ามีทีมใหญ่ (ซึ่งทุกคนน่าจะรู้ว่าทีมใด) จองตัวเข้าไปเล่นแทน แต่จากสัญญาผูกมัด Gambit จึงดอง gpk ไม่ได้ย้ายไม่ได้ลงแข่ง จนสุดท้ายทั้งทีมและ gpk ก็มาหาทางออกโดยเลิกดอง และกลับมาลงเล่นให้ทีม แต่ความสัมพันธ์ภายในน่าจะไม่เหมือนเดิมแล้ว
เรื่องอื้อฉาวในวงการอีสปอร์ตไทย
ไปยกตัวอย่างเรื่องนอกประเทศกันมาแล้ว ในประเทศเราเองก็ไม่แพ้กัน ไม่นับพฤติกรรมไม่เหมาะสมในอดีตของตัวนักกีฬาจากวัยวุฒิ แต่เป็นการกระทำผิดสัญญากับต้นสังกัดแบบยกทีม จนมีการฟ้องร้องกันใหญ่โตเลย
นั่นคือเรื่องระหว่างสมาชิกทีม Bacon Time และต้นสังกัดในตอนนั้น Buriram United Esports ในเกม RoV ซึ่งหากใครตามข่าวคงได้ยินมาไม่มากก็น้อยว่าฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลและเรียกค่าเสียหายระดับ 6 ถึง 7 หลักเลยทีเดียว
หากให้สรุปประเด็นสั้นๆ สำหรับคนไม่ได้ติดตาม สมาชิกทีม Bacon 4 คน ได้เซ็นสัญญาสตรีมทับซ้อนกับข้อตกลงในสัญญานักกีฬาของทีมบุรีรัมย์ ทั้งการทำกิจกรรมโดยไม่ขออนุญาตสังกัด พร้อมยังมีเรื่องใส่ไฟอีกมาก ซึ่งถ้าใครอยากตามก็หาแหล่งข่าวได้ไม่ยาก
โดยกรณีนี้ถือเป็นบทเรียนได้ชัดเจนว่า แค่คุณเก่ง คุณดัง ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรได้ตามใจชอบ ถึงแม้ Bacon จะเป็นโคตรทีมขวัญใจมหาชน ได้แชมป์โปรลีกทีมแรก แฟนคลับล้นหลาม แต่พอเกิดเรื่อง ดูเหมือนคนดูจะมาจากกองแช่งเสียครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว กลายเป็นตราบาปไปทันที
ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นแค่กรณีตัวอย่าง ในเรื่องสัญญาระหว่างทีมกับตัวนักกีฬาเท่านั้น สิ่งที่นักกีฬาอีสปอร์ตควรพึงมีนั้นยังเหลืออีกมาก พฤติกรรมในด้านต่างๆ เพราะคนภายนอกมักจะเห็นส่วนดีเพียงเล็กน้อย แต่ความผิดพลาดใหญ่เป็นภูเขา หากจะให้วงการอีสปอร์ตก้าวไปข้างหน้าได้ ก็ต้องเริ่มที่ตัวนักกีฬาซึ่งเป็นเหมือนภาพฉายของอีสปอร์ตทั้งหมดก่อนเป็นอันดับแรก เหนือสิ่งอื่นใด
40Comments