ภาพยนตร์จากเกม ทำไมถึงไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อเกมที่เรารักเราชอบได้ถูกดัดแปลงอยู่ในสื่ออื่น โดยเฉพาะภาพยนตร์จอเงิน ย่อมเป็นเรื่องน่ายืนดีเป็นอย่างยิ่ง แต่ทำไมตั้งแต่มีประวัติศาสตร์การดัดแปลงภาพยนต์มาเกือบ 5 ทศวรรษ กลับไม่มีเรื่องไหนเลยที่สามารถพูดได้เต็มปากว่าภาพยนตร์นี้ถูกสร้างขึ้นมาจากเกมและประสบความสำเร็จอยู่ในระดับ Box Office หรือทำเงินได้

คำว่าเกมทำให้ตัวภาพยนตร์ถูกตัดสินไปก่อนหน้า

คราวนี้เราต้องย้อนมาดูกลุ่มคนผู้รับชมซึ่งเป็นลูกค้าหลักของวงการภาพยนตร์ ซึ่งก็จะแตกแขนงแยกย่อยไปตามสายและประเภทของภาพยนตร์ แต่ละคนจะมีความนิยมชมชอบต่างกัน ซึ่งการโปรโมทว่ามาจากเกมนั้นจะมีข้อดีในการขยายฐานลูกค้าเพราะจะเข้าสู่กลุ่มผู้เล่นเกม (เกมเมอร์) ให้มาติดตามภาพยนตร์จากเกมที่ตัวเองชื่นชอบ

กลับกันเหล่าคอหนังบางส่วนจะตั้งอคติตั้งแต่แรกเห็น ด้วยบางคนไม่ชอบอะไรก็ตามที่เป็นเกมอยู่เป็นทุนเดิม หรือรู้เนื้อหาบางส่วนมาก่อนแล้วทำให้หมดความน่าสนใจจากหนังเหล่านี้ไป ก็เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมรายได้ช่วงเปิดตัวของภาพยนตร์เหล่านี้ถึงทำออกมาได้ไม่ดีนัก

ถ้าหนังมันดีจริงต้องมีคนดู

              ถือว่าเป็นวลีอมตะกับ “ถ้ามันดีจริงต้องประสบความสำเร็จ” แต่โดยรวมแล้วก็ไม่เสมอไปยิ่งกับหนังขึ้นหิ้งระดับตำนาน The Shawshank Redemption ซึ่งทำรายได้เทียบกับทุนการสร้างแล้วไม่ได้ดีเลย แต่ตัวหนังกลับตัดสินใหม่หลังจากลงโรงไปแล้วก็ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย

              คำถามคือภาพยนตร์จากเกมมันเป็นกรณีเดียวกันหรือไม่ คำตอบแบบชัดเจนคือไม่ใช่ ดังนั้นการที่จะไม่มีคนดู หรือทำรายได้ไม่เข้าเป้าแถบถูกทั้งคนดูและนักวิจารณ์สับยับจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเสียเท่าไหร่นัก

เหตุผลอื่นที่ภาพยนตร์จากเกมมักแย่อยู่เสมอ

              1.การถ่ายทอดเนื้อเรื่องมักทำออกมาผิดจุด

              Street Fighter, Mortal Kombat, Tomb Raider และอื่นๆอีกมากมาย มักจะนำจุดเด่นของเกมแต่ไม่ใช่จุดเด่นของภาพยนตร์ออกมาใช้ ชอบเน้นฉากแอคชั่น ต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง แต่นอกจากนั้นกลับจืดชืดยิ่งกว่าน้ำกลั่นกรองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งที่ถ้ามีการปรับปรุงต้นฉบับให้ออกมาเหมาะสมแล้วตัวหนังจะมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกมาก

 

Mortal Kombat: Annihilation ซึ่งเน้นด้านคอสตูมและฉากแอคชั่นจนทุกอย่างที่เหลือลงเหว

            2.อิงกับเกมและลูกค้าที่เป็นเกมเมอร์มากเกินเหตุ

              สิ่งบางสิ่งในเกมมันดูเข้าท่า แต่เมื่อมาอยู่ในหนังแล้วมันห่วย หรือบางเรื่องหนักกว่าโดยการยัดทุกอย่างของเกมซึ่งปกติแค่เนื้อเรื่องก็อาจปาเข้าไป 20 กว่าชั่วโมง หดให้เหลือ 2 ชั่วโมงทำให้กลุ่มคนดูที่ไม่ใช่คอเกมอยู่แล้วต้องอุทานขึ้นมาว่า “อะไรวะ” เพราะกลุ่มคนดูเหล่านี้ไม่รู้จักตัวละครหรือเนื้อเรื่องภายในเกมมาก่อน ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นทำให้อารมณ์ร่วมในหนังยิ่งลดน้อยถอยต่ำลงไปอีก

 

Warcraft ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่สุดท้ายเจ๊ง เพราะการไม่ปูบทและเนื้อเรื่องที่มากเกินไปจนยัดลงมาไม่หมด

              3.ไม่อิงกับเกมเลย

              สำหรับผู้อ่านอาจจะงงว่า ข้อเมื่อครู่บอกว่าอิงกับเกมมากเกินไป แล้วทำไมถ้าไม่อิงกับเกมเลยมันถึงห่วย คำตอบคือนอกจากไม่อิงกับเกมแล้ว ด้วยความที่จิตใต้สำนึกลึกๆแล้วมันเอาชื่อของเกมมาใช้ พอปรับปรุงอะไรที่ไม่เข้าท่าเข้าไป ยิ่งไม่เหมือนต้นฉบับยิ่งไปกันใหญ่เหลวแหลกตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำ ซึ่งตัวอย่างก็มีในภาพยนตร์ Super Mario Bros.(1993) หรือ Sonic the Hedgehog ที่โดนถล่มเละตั้งแต่แค่มีเทรลเลอร์ออกมา

 

Sonic the Hedgehog ถูกถล่มด้วยดีไซน์อันน่ากลัวของ Sonic จนต้องยอมทำอนิเมชั่นใหม่ทั้งหมด

              4.นี่คือภาพยนตร์ คนดูไม่ได้เล่น

              มีกระแสอยู่ช่วงหนึ่งของพวกเล่นเกมผ่านการนั่งดูคลิปวิดีโอของเหล่า สตรีมเมอร์ หรือเกมแคสเตอร์ แล้วตัวเองไม่พอใจในการกระทำของคนเล่นในตอนนั้น ภาพยนตร์ก็เช่นกัน เราจะมีอคติตั้งแต่ต้นเมื่อเจอตัวละครทำอะไรบางอย่างที่ไม่สมควร “ทำไมทำแบบนั้น ถ้าเล่นเองก็รอดแล้ว” ยิ่งทำให้ตัวคนดูเหินห่างกับตัวละครมากขึ้น ต่างจากเกมที่เราลงไปเล่นมีความรู้สึกและผูกพันกับตัวละคร

              อีกข้อซึ่งยกมาจากฉากแอคชั่น สู้กันถล่มทลายในขณะที่คนดูนั่งดูดน้ำอัดลมกินป๊อปคอร์น ถ้าเป็นในเกมเหล่าคนดูและผู้เล่น คือคนบังคับ และอยู่ในสถานการณ์นั้นจริง ไม่ว่าเนื้อเรื่องตอนนั้นมันจะเป็นอย่างไรถ้าระบบควบคุมสมจริง และสนุก เกมมันก็ขายได้ซึ่งตรงข้ามกับภาพยนตร์ เพราะคนดูทำอะไรไม่ได้นอกจากดูเพียงอย่างเดียว

 

Need For Speed จะสนุกตรงไหนถ้าเราไม่ได้ไปขับเอง

              5.ตัวเอกเป็นเทพเจ้า

              หากในเกมกว่าจะเคลียร์จนจบได้เราตายซ้ำตายซ้อน หรือพลาดโหลดเซฟใหม่ไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ ในภาพยนตร์ตายครั้งเดียวคือจบเรื่อง และนั่นทำให้ตัวเอกดูเทพเป็นพิเศษ เพราะพวกเขาตายไม่ได้จนคนดูรู้สึกไม่ใช่ละ เก่งเกินไปแล้ว ส่วนตัวประกอบเอะอะก็โผล่มาตาย เพราะตามจริงในเกมอาจจะมีบทมากกว่านี้ พอในหนังซึ่งมีเวลาจำกัด ทำให้บทถูกตัดทอนและตายหายไปอย่างว่องไว ซึ่งนั่นก็เกิดขึ้นกับภาพยนตร์หลายเรื่องเช่น Resident Evil หรือ Prince of Persia: The Sands of Time ซึ่งคนเขียนรู้สึกว่าตัวหนังมันสนุก แต่ก็โดนเหตุผลข้างต้นรวมถึงข้ออื่นบางข้อทำให้ตัวหนังไม่ทำเงินในท้ายสุด

 

Prince of Persia: The Sands of Time หนังดีแต่ไม่ทำเงินเพราะเหตุผลโดยรอบ

 

              6.ทุนต่ำนักแสดงห่วย

              คู่กรรมเวอร์ชั่นล่าสุด ณเดชแบกเรื่องไว้บ่นบ่าคนเดียวด้วยบทโกโบริ ส่วนอังศุมาลินแข็งและกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ภาพยนตร์จากเกมมักเป็นกรณีนั้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะนักแสดงหน้าใหม่ไร้ชื่อ งบอันแสนน้อยนิดของการสร้าง หรือความไม่เข้าใจในตัวละครและบทที่ส่งมาถึงนักแสดงไม่ได้ก็เป็นส่วนสำคัญ ไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่ต้องมีการมอบรางวัลนักแสดงนำ หรือนักแสดงสมทบ เพราะบางเรื่องก็เกิดเพราะความเข้าใจในบทบาทและความสามารถของนักแสดงจริงๆ

 

Tekken หนังที่ไม่ควรค่าแก่การดูการันตีด้วย Rotten Tomatoes 0%

             

              7.เลือกมาผิดเรื่อง

              เกมดีมีอยู่เยอะ แต่ไม่ใช่ทุกเกมที่เหมาะสมกับการถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ได้ ซึ่งก็ไม่รู้เหตุใดคนดัดแปลงเกมสู่ภาพยนตร์ถึงชอบเลือกเกมแอคชั่นเร้าใจ ไล่ซัดหน้าศัตรู มาสร้างกันนัก ซึ่งก็ไปพ้องกับเหตุผลด้านบนแทบทุกข้อว่ามันไม่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มเรื่องแล้ว

              ซึ่งถ้ามองเกมในปัจจุบันที่มีเนื้อเรื่องสนุกน่าสนใจก็ยังมีอยู่หลายเกม Detroit Become Human, Bioshock, Call of Duty, Metal Gear ก็ยังมีอยู่ถมไปแต่ก็ไม่ถูกนำมาดัดแปลงอย่างที่รู้กัน

 

Uncharted เกมที่มีโปรเจคว่าจะสร้างนับสิบปีแต่ก็โดนดองยาวยันปัจจุบัน

สุดท้ายแล้วเราก็ไม่มีทางรู้ว่าภาพยนตร์จากเกมจะมีเรื่องไหนประสบความสำเร็จได้บ้าง ซึ่งถ้าดูจากเรื่องล่าสุด Detective Pikachu ถือว่ามีการพัฒนาไปในแง่บวก มีการผสมผสานให้ไม่ขาดไม่เกินมากไป ใช้นักแสดงและนักพากย์เหมาะสม แต่ต้องอย่าลืมว่าอยู่ในระดับพอใช้เท่านั้น ก็ต้องลุ้นกันต่อไปกับคำสาปภาพยนตร์จากเกมจะถูกลบออกไปเมื่อใดกันแน่