เกมสร้างความรุนแรง แพะรับบาปของสังคม?

ไม่ว่าจะมีกระแสความรุนแรงกี่ครั้งต่อกี่ครั้งในยุคสมัยโลกาภิวัฒน์ สิ่งที่ข่าวนำเสนอออกมาไม่ว่าจะเกี่ยวจริงหรือไม่เกี่ยวเลยแม้แต่น้อยจะมีการพาดหัวว่า “...คลั่งเกมเอาปืนไล่กราดยิง” “...เผยเลียนแบบเกม” และอีกมากมายโดยเมื่ออ่านเนื้อหาแท้จริงแล้วกลับพบว่า การทำข่าวมักมีการใช้คำถามชี้นำเช่น “เคยเล่นเกมไหม” “ปกติเล่นเกมหรือไม่” “ทำแบบนี้เพราะเล่นเกมหรือเปล่า” คำถามคือทำไปทำไมถึงสร้างคำถามชี้นำ เพื่อดึงให้เกมเป็นแพะรับบาปอยู่เสมอ

คำถามชี้นำถูกหลักการสัมภาษณ์หรือไม่

ขอเอาคำสอนและความรู้จากอาจารย์ ในคณะของผู้เขียนซึ่งโดนพร่ำบ่นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า การใช้คำถามชี้นำจะทำให้เราไม่ได้ผลลัพธ์ที่แท้จริง ถ้ามีแพทย์ เภสัชถามคุณว่า “มีอาการหน้ามืดไหมครับ” “ปวดท้อง แบบตรงท้องน้อยด้านขวาใช่ไหมครับ” คำถามนี้หากเราโดนถามจะพยายามนึกว่า เออเรามีอาการนี้จริงนะ หรือถ้าใกล้เคียงเราก็จะพูดตอบรับไปแบบไม่ได้คิดมาก ซึ่งในทางสาธารณสุขก็จะได้ผลที่ผิดพลาด

              เช่นเดียวกับการสัมภาษณ์เพื่อเขียนบทความหรือหาข่าว การตั้งคำถามชี้นำ ยิ่งกับผู้ต้องหา เนื่องจากสภาพตอนนี้ของผู้ต้องหาเองก็ไม่ได้อยู่แบบเต็มร้อย ต้องสู้คดี ติดคุก ความเครียดรุมเร้า หากมีนักข่าวมาถามแบบข้างต้น แถมยังถามแบบเน้นย้ำว่าที่พูดมาจริงหรือ ไม่เล่นสักหน่อยหรือ การตอบปัดสวะพ้นตัวเพื่อลบความรำคาญตรงหน้าก็คือคำตอบ

              โดยสรุปแล้วการถามคำถามชี้นำจะทำให้เราไม่ได้ข้อเท็จจริงอย่างที่ควรจะเป็น แต่จะทำให้เราได้ข้อมูลอย่างที่อยากได้ กลับมากลับประเด็นเดิมทำไมต้องอยากได้ข่าวแบบนี้มากขนาดนั้น

ย้อนความ

              ข่าวครั้งแรกว่าเกมเป็นสาเหตุของคดีความคือวัยรุ่นม.6 เลียนแบบเกม GTA ฆ่าชิงทรัพย์แท็กซี่ในวันที่ 4 สิงหาคม 2551 โดยตัวผู้ก่อเหตุให้เหตุผลไว้ว่า “ตัดสินใจก่อเหตุดังกล่าว เพราะเห็นจากในเกมจีทีเอ เกมออนไลน์ที่เล่นเป็นประจำ มีรูปแบบเป็นเกมไล่ฆ่าของแก๊งมาเฟีย ตนจึงจำแบบอย่างในเกมแล้วลอกเลียนเอามาทำจริงๆ เห็นว่าได้เงินง่ายไม่น่าจะยาก จึงลองทำดูโดยไม่คิดว่าจะจบลงแบบนี้...ยืนยันว่าไม่ได้ติดยาเสพติดหรือติดการพนัน ต้องการทรัพย์ไปใช้จ่ายส่วนตัว...ทุกวันนี้ที่บ้านให้เงินใช้วันละ 100 กว่าบาท แต่ไม่พอ แต่ไม่ได้บอกให้ทางบ้านรู้ ประกอบกับรู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาพครอบครัว”

              เมื่อมาย้อนดูข้อเท็จจริงเราจะเห็นว่า GTA ไม่ใช่เกมออนไลน์ และยังมีการระบุถึงสภาพครอบครัวที่ไม่ได้ดีนัก จึงทำให้เกิดเหตุสลดอย่างว่า ซึ่งข่าวนี้ทำให้เหล่าผู้ใหญ่ในบ้านเราตื่นตัวเริ่มไล่กวดขันลูกในบ้านเกี่ยวกับเกม แถมข่าวนี้ยังเป็นข่าวดังกระแสดีอีกด้วย

              แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้เขียนจะเข้าข้างว่าเกม GTA ไม่ได้ก่อให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้น แต่มันมีสาเหตุอื่นมาประกอบ เพียงแต่ตัวเกมเป็นตัวจุดชนวนจากความไม่รู้

ข่าวก็เป็นธุรกิจ

ถ้าไม่ได้เงินจะทำไปทำไม นักข่าวก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครเป็นคนดีทำเพื่อการกุศล ยิ่งระดับหัวหน้าผู้ลงทุนก็ต้องอยากได้เงิน ซึ่งมาจากเรตติ้ง ถ้าเป็นสมัยก่อนก็หนังสือพิมพ์ขายได้มาก เดี๋ยวนี้ก็มีผู้รับชมทั้งทางโทรทัสน์หรือออนไลน์เพื่อขายโฆษณาเป็นรายได้

และการตั้งหัวข้อเรียกแขกพาดหัวข่าวก็เป็นหนึ่งในเทคนิคเบื้องต้น ถ้ามีคนเขียน 2 คน คนหนึ่งเขียนแบบเรียบสนิทไม่มีท่อนฮุค ไม่เร้าใจก็จะดึงดูดคนมาอ่านต่อไม่ได้ ต่างจากคนที่เขียนแบบล่อเท้า ถึงแม้คนอาจจะไม่ชอบแต่แค่คลิกเข้ามาก็ได้ค่าโฆษณา เหมือนข้าวคลิกเบทที่ระบาดอยู่ช่วงหนึ่ง

ยิ่งกระแสสังคมจำนวนมาก ซึ่งขอย้ำว่ามากกว่าที่เราคิด ชอบที่จะหาแพะอยู่แล้วยิ่งเป็นแพะซึ่งทุกคนไม่ชอบขี้หน้าอย่างกรณีการเมือง ซึ่งเราจะไม่พูดถึงในบทความนี้ เกมก็เป็นหนึ่งในหัวข้อซึ่งถูกกระทืบแล้วมีคนพร้อมเหยียบตามจนทำให้ยอดขายพุ่งทะลุสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมันไม่ใช่แค่มีคนเชียร์แล้ว คนอีกฝั่งถ้าเข้ามาอ่าน เข้ามาด่ากลับก็ถือว่าเป็นเรตติ้งของข่าวเช่นเดียวกัน

ไม่รู้จัก เท่ากับ น่ากลัว

              มนุษย์จะมีการตอบสนองต่อสิ่งไม่รู้ด้วยการจินตนาการให้อันตรายกว่าความจริง คนเชื่อว่าถ้าเดินเรือไปมากเกินจะตกขอบโลกตาย ได้ยินเสียงในป่าก็คิดว่ามีผีจะมาฆ่าตน เกมก็เป็นสิ่งนั้น เพราะถ้าบอกว่าคนเกินครึ่งประเทศไม่ได้เล่นเกม เมื่อเขาไม่รู้จัก พอมีการจุดประกายครั้งแรกว่าเกมมันอันตราย คนเหล่านั้นย่อมมองเกมเป็นสัตว์ประหลาดที่พร้อมขยี้กำแพงจิตใจเขาได้ตลอด

              และด้วยความเหล่าคนไม่รู้จักเกม มักจะเป็นกลุ่มผู้พอมีอายุ และมีหน้าตาทางสังคม จึงทำให้แนวคิดนี้ฝังลึกจนยากจะถอนออก เหตุการณ์ปล้นชิงทองลพบุรี ก็มีหลายคนแสดงความเห็นว่าเพราะมันเล่นเกมแน่ๆ เลยมีจิตใจโหดเหี้ยมขนาดนี้ แถมขนาดผู้ต้องหาปฏิเสธเสียงแข็งว่า “กูไม่เล่นเกมโว้ย” ก็ไม่มีใครสนใจอีกแล้ว หรือแม้แต่เหตุการณ์กราดยิงโคราช ขนาดว่ามีเหตุจูงใจชัดเจนว่าต้นเหตุคืออะไร เกมยังไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนระดับ นายกรวมถึงรัฐมนตรี

ตกลงแล้วเกมเป็นแพะ หรือคนร้ายตัวจริง

อ้างอิงจากงานวิจัยจำนวนมากกว่า 100 ฉบับ รวมถึงการศึกษาแบบ Meta-Analysis (เป็นงานวิจัยในลักษณะรวบรวมงานวิจัยอื่นจำนวนมากมาประเมินความน่าเชื่อถือ) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเกมไม่มีความเกี่ยวข้องในการสร้างความรุนแรงในตัวผู้เล่น

ตัวอย่างเช่นงานวิจัยของ Joseph Hilgard จากมหาวิทยาลัย Illinois State ได้สร้างงานวิจัยโดยแบ่งเป็นเกมยากจนหัวร้อน กับเกมที่ส่งเสริมความรุนแรง ซึ่งเทียบผลผู้ทดลอง 275 คน เทียบระหว่างก่อนหลังด้วยคำถามที่เกี่ยวกับการประเมินทางจิต โดยสรุปแล้วไม่ได้มีความต่างกันแต่อย่างใด

งานวิจัยขั้วตรงข้ามก็มี เพียงแต่น้อยกว่ามากถึงมากที่สุด แต่เมื่อมีงานวิจัยทำนองนี้แต่ละครั้งกลับได้รับการตีพิมพ์ กระจายปากต่อปากและแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วโดยไร้การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของงานวิจัยเลยแม้แต่น้อย

เกมคือปลายเหตุ สำคัญอยู่ที่ต้นเหตุ

              ไม่ว่า WHO จะบรรจุอาการติดเกมเป็นหนึ่งในอาการป่วย แต่ด้วยเงื่อนไขที่ยากจนทุกคนต้องรู้สึกว่า ถ้าเล่นขนาดนี้เพื่อติดเกม มันช่างยากเสียเหลือเกิน แต่ทุกข่าวที่เกิดปัญหาความรุนแรงขึ้นจำนวนมาก มักเกิดจากปัญหาด้านพื้นฐานทางสังคม การงาน ครอบครัวแทบทั้งสิ้น จนพวกเขาต้องหาทางออกเป็นเกมเพื่อหลบหนีจากโลกความจริง

              แต่ถึงอย่างไรก็ตามการเปลี่ยนความคิดของผู้คนไม่ใช่เรื่องง่ายสิ่งสำคัญคือการกระทำของตัวเราเองผู้อยู่ในวงการเกม ไม่ว่าจะผู้ผลิต ผู้เล่น พยายามสร้างค่านิยมใหม่ เกมเป็นสิ่งบันเทิงซึ่งไม่ต่างจาก ศิลปะ ดนตรี หรือภาพยนตร์

              อีกอย่างคือพยายามอย่าใช้ถ้อยคำรุนแรง ควบคุมอารมณ์ของตนทุกครั้งเมื่อเห็นข่าวในลักษณะข้างต้น อธิบายคนรู้จักด้วยเหตุผล หากใช้อารมณ์เข้าสู้แล้ว คนภายนอกผู้ซึ่งมองเกมคือสิ่งอันตราย ก็จะเชื่ออย่างแท้จริงว่า เกมทำให้เป็นคนรุนแรงพร้อมทำร้ายคนรอบตัวอย่างแท้จริง

 

อ้างอิง

https://www.psychologicalscience.org/publications/observer/obsonline/video-game-mechanics-aggression.html

https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/0956797619829688

https://www.scientificamerican.com/article/do-video-games-inspire-violent-behavior/

https://www.researchgate.net/publication/222094719_Violent_Video_Games_as_Exemplary_Teachers_A_Conceptual_Analysis

https://edition.cnn.com/2019/08/05/health/video-games-violence-explainer/index.html

http://www.ox.ac.uk/news/2019-02-13-violent-video-games-found-not-be-associated-adolescent-aggression#

https://www.matichon.co.th/politics/news_1967432

https://voicetv.co.th/read/jQ16xJH_m

http://oknation.nationtv.tv/blog/suranand/2008/08/04/entry-1

https://thematter.co/social/does-violent-video-game-cause-aggressive-behavior/82251

https://thematter.co/social/its-because-of-the-game/17626